top of page
  • รูปภาพนักเขียนTLIC CMU

เริ่มแล้ว! มช.ผลักดันการเรียนรู้ด้วย "Generative AI"

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เฟ้นหาอาจารย์รุ่นใหม่ทดลองใช้

ระบบอัจฉริยะในการจัดการเรียนรู้ ภาคการศึกษาที่ 2/2566 นี้ !



เมื่อสิบปีที่แล้ว ถ้าพูดว่า มีระบบที่สามารถค้นหาเรียบเรียงคำตอบออกมาเป็นบทความที่มีเนื้อความและภาษาที่สละสลวย ราวกับเป็นผลงานเขียนของมนุษย์ คงฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเป็นไปได้...


แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา สิ่งที่คนกำลังพูดถึงกันมากขึ้นคือ เทคโนโลยี Generative AI หรือปัญญาประดิษฐ์แขนงนึงของ AI : Artificial Intelligence (AI) ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะในการสร้างเนื้อหาใหม่จากชุดข้อมูลเดิม ด้วยอัลกอริทึมที่มีโมเดลเฉพาะต่างๆ ตามที่มีการออกแบบต่างกัน  มีความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นรูปภาพ วิดีโอ เสียง ข้อความ โมเดลสามมิติ และอื่น ๆ และในแวดวงการศึกษาทุกวันนี้ มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการเรียนรู้ให้กับครูผู้สอน ไม่ว่าจะเป็น การช่วยวางแผนการเรียนการสอน สร้างแบบทดสอบ สร้างสื่อ หรือภาพเคลื่อนไหวประกอบการเรียนการสอน ใช้เป็นเครื่องมือในการวัดและประเมินผล


มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ (TLIC) ได้เล็งเห็นถึงอนาคตของการจัดการเรียนรู้ ที่จะมีเทคโนโลยีอย่าง Generative AI เข้ามาช่วยในกระบวนต่างๆ ของอาจารย์ให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูงสุด โดยเมื่อวันที่  6 พฤศจิกายน 66 ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรม “Workshop ปรับการเรียนรู้ยุคใหม่ด้วย Generative AI”

โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต (รองอธิการบดี ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล) ได้มอบนโยบาย และอัพเดทเทรนด์ด้านเทคโนโลยีการศึกษาในยุคปัจจุบันที่ AI กำลังมีบทบาทในด้านการจัดการเรียนรู้มากยิ่งขึ้น




โดยกิจกรรมดังกล่าวได้เชิญอาจารย์ผู้มีประสบการณ์ รศ.ดร. สิริวุฒิ บูรณพิร อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ ในการใช้ Generative AI อย่าง ChatGPT4 ที่มาให้ความรู้ด้าน AI แก่อาจารย์ผู้เข้าอบรม  โดยให้อาจารย์ผู้เข้าร่วมอบรมได้ฝึกใช้ ChatGPT4 ในการให้AI มีส่วนช่วยผู้สอนในด้านต่างๆ เช่น การใช้ AI สร้างแบบฝึกหัด ออกแบบรูปแบบการเรียนรู้ ออกข้อสอบหรือตั้งคำถามท้ายหน่วยการเรียน ออกแบบ Rubrics ในการวัดผลประเมินสัมฤทธิ์การเรียนรู้


..ทั้งนี้มีอาจารย์ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 ท่าน และมีผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้จำนวน 40 เท่านั้น


ภาพกิจกรรม “Workshop ปรับการเรียนรู้ยุคใหม่ด้วย Generative AI” ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566



นอกจากนี้ อ.ดร.อานันท์ สีห์พิทักษ์เกียรติ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการสอนและการเรียนรู้ ยังได้กล่าวถึงการปรับตัวของอาจารย์ยุคใหม่ที่ใช้  AI เป็นเครื่องมือในการจัดการเรียนรู้และได้ เปิดตัวทุน Generative AI เป็นครั้งแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแนวทาง "การจัดการเรียนรู้" และ "การพัฒนาอาจารย์" เพื่อจัดการเรียนรู้ที่มี AI (โดยเฉพาะ Large Language Model; LLM) เป็นเครื่องมือ โดยสนับสนุนทุนแก่อาจารย์ สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ในการใช้งาน Generative AI เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดการเรียนรู้ และเสริมสร้างการเรียนรู้ของผู้เรียนในการนำ AI มาใช้ในการเรียนหรือการสอบอย่างเหมาะสม


โดยโครงการประสงค์ให้อาจารย์ผู้ยื่นขอทุนออกแบบการเรียนรู้ที่บรูณาการ AI ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น

  • พัฒนากิจกรรมเดิม - ปรับกิจกรรมการเรียนรู้

  • สร้างกิจกรรมใหม่ - สร้างกิจกรรมหรือวิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่ใช้ AI เป็นกลไกสำคัญ

  • การวัดและประเมินผล - พัฒนาแนวทางการใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ในการวัดและประเมินผล

  • อื่นๆ - พัฒนาแนวทางอื่นที่ส่งเสริมการใช้ AI กับนักศึกษาเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์การเรียนรู้ได้ดีขึ้น


โครงการทุนดังกล่าวฯ ได้เปิดรับสมัครอาจารย์ที่มีวิชา/กลุ่มทดสอบ ในภาคการศึกษาที่ 2/2566 ได้นำไปจัดการเรียนรู้โดยมีระยะเวลา 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 67) และนำผลลัพธ์ที่ได้จากการทดสอบมาเผยแพร่ในรูปแบบบทความเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม Show & Share สำหรับผู้ที่ได้รับทุนและผู้ที่สนใจ เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการใช้ Generative AI ในการจัดการเรียนรู้อีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน 2567 เพื่อพิสูจน์ว่าการใช้ระบบอัจฉริยะเหล่านี้ สามารถสร้างแรงขับเคลื่อนและมีส่วนช่วยในการจัดการเรียนรู้ของผู้เรียนและผู้สอนได้จริงอย่างมีประสิทธิภาพ…


สิ่งสำคัญคือ "ต้องสร้างสมดุลระหว่างการใช้ AI และบทบาทของผู้สอนที่เป็นมนุษย์ แม้ว่า AI จะสามารถให้ความช่วยเหลืออันมีคุณค่าได้ แต่ก็ไม่สามารถแทนที่ความเชี่ยวชาญของมนุษย์ที่นำมาสู่ห้องเรียนได้" ผู้สอนมีบทบาทสำคัญในการแนะนำผู้เรียน ส่งเสริมทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ

ดังนั้น อนาคตของการศึกษาจึงอยู่ที่แนวทางการทำงานร่วมกัน โดยที่ AI ทำงานร่วมกับผู้สอนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและมีส่วนร่วมมากขึ้น



สามารถติดตามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมการสมัครทุนได้ที่ ทุน AI New! | TLIC (cmu.ac.th)

ดู 333 ครั้ง1 ความคิดเห็น
bottom of page