ถอดบทสัมภาษณ์จากรายการ CMU ED Talks CMU: 21st Century Learning 2023
| The Change Maker | EP.03 Distinguished Educator Award 2023
![](https://static.wixstatic.com/media/fcb8b9_1ac508bc61374ec39c4f91b65f4fdc38~mv2.jpg/v1/fill/w_980,h_980,al_c,q_85,usm_0.66_1.00_0.01,enc_auto/fcb8b9_1ac508bc61374ec39c4f91b65f4fdc38~mv2.jpg)
แชร์เทคนิค ‘สอนอย่างไรจึงจะเหมาะกับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21’ กับ
ผศ.ดร. ศุภณัฐ ชัยดี หรือ "อาจารย์นัท"
อาจารย์ประจำภาคคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์
และ ผศ.ดร.จิรันธนิน กิติกา หรือ "อาจารย์ภู"
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ เจ้าของรางวัล Distinguished Educator Award ซึ่งเคยได้รับรางวัล Best Practice ในปี 2562
หลายคนอาจสงสัยว่าอาจารย์จากสองขั้วคณะที่ดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวข้องกัน ทำอย่างไรให้ทั้งสองกระบวนวิชาสามารถประยุกต์เข้าด้วยกันได้ จนเกิดเป็นโปรเจ็ค ‘Arch x Geom CMU’ ที่จัดแสดงในงาน Chiang Mai Design Week บทสัมภาษณ์นี้มีคำตอบ!
แรงบันดาลใจในการพัฒนาการเรียนรู้
อาจารย์นัทเล่าถึงที่มาที่ไปว่า เมื่อปี 2562 เคยได้ขอทุนใน Type B เปลี่ยนจากการให้นักศึกษานั่งฟังบรรยายในห้องเป็นการสอนแบบ Active learning ซึ่งผลที่ได้คือ งานตัวโปรเจ็คจบนักศึกษาทำออกมาได้ดีในระดับหนึ่ง แต่อาจารย์รู้สึกว่า ยังดีได้มากกว่านี้ในแง่ของการพัฒนาต่อยอดกับโจทย์จริง
จึงพยายามหาผู้ช่วยที่จะทำให้ความคิดของนักศึกษาเฉียบคมมากยิ่งขึ้น และในตอนนั้นเองก็ได้ติดต่อกับอาจารย์ภูเพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างศาสตร์ของคณิตและศาสตร์ของสถาปัตยกรรม โดยอาจารย์ภูได้เสริมต่อไปว่า "อยากนำเสนอให้เห็นว่า
สถาปัตยกรรมและคณิตศาสตร์มันเป็นวิธีคิดร่วมกันได้"
อย่างทางฝั่งสถาปัตย์ ตัวกระบวนวิชาเป็นการเรียนแบบก้าวหน้า นักศึกษาจะต้องสร้างสรรค์หนึ่งอาคารด้วยตัวคนเดียว เมื่อได้ใช้วิธีคิดทางคณิตศาสตร์ร่วมด้วย จะทำให้งานมีตรรกะที่ชัดเจนขึ้น ฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม และแท้จริงนั้นอาคารหนึ่งหลังมีความเกี่ยวข้องกับคณิตศาสตร์มากมาย
กระบวนวิธีที่เลือกใช้ในการสอน
เมื่อต้องการบูรณาการความรู้จากสองคณะที่มีเนื้อการเรียนที่ต่างกัน สิ่งแรกที่ต้องทำคือ
การมองให้ออกว่าอะไรที่เป็นจุดร่วมเพื่อที่จะได้ไปพร้อมกันและในทางกลับกัน หาว่าอะไรคือจุดต่างเพื่อที่จะได้เอาเนื้อหามาเสริมซึ่งกันและกัน
กระบวนวิชาฝั่งคณิตศาสตร์ของอาจารย์นัท จะเป็นการบรรยายที่มีกิจกรรม มีลำดับของเนื้อหา ที่จะต้องมาก่อนมาหลัง ส่วนกระบวนวิชาฝั่งสถาปัตย์ของอาจารย์ภู เริ่มด้วยการออกแบบก่อน ลงชุมชน ลงพื้นที่ วิเคราะห์ไซต์ เริ่มจากอาคารสองมิติ ต่อด้วยการขึ้นเป็นสามมิติจนเกิดเป็นตัวแบบอาคาร
กระบวนวิชาทางฝั่งคณิตศาสตร์ของอาจารย์นัท | กระบวนวิชาทางฝั่งสถาปัตย์ของอาจารย์ภู |
บรรยายและกิจกรรม | เริ่มต้นด้วย การออกแบบแนวคิด |
มีลำดับของเนื้อหาที่จะต้องมาก่อนมาหลัง (เนื้อหาLv.1) | ลงชุมชน ลงพื้นที่ วิเคราะห์ไซต์ |
(เนื้อหาLv.2+กิจกรรม) | เริ่มจากอาคารสองมิติ |
(เนื้อหาLv.3+กิจกรรม) เป็นต้น | ต่อด้วยการขึ้นเป็นสามมิติจนเกิดเป็นตัวแบบอาคาร |
อาจารย์นัทชี้ให้เห็นถึงเหตุผลของการรวมกันของสองวิชานี้ว่า หากนักศึกษาทางฝั่งคณิตได้รับโจทย์ที่เป็นโจทย์จริงๆ มาเริ่มต้นเป็นแกนกลาง น่าจะทำให้นักศึกษาเห็นถึงแนวทางการประยุกต์คณิตศาสตร์เข้ามาใช้ในชีวิตจริง เช่นเดียวกับนักศึกษาทางฝั่งสถาปัตย์ก็จะได้แนวคิดทางคณิตศาสตร์ ช่วยปรับรูปทรง ปรับการออกแบบให้สมเหตุสมผลมากขึ้น ซึ่งเมื่อลองวางแผนจัดการเรียนการสอนแล้วก็จะเกิดเป็นเวิร์กช็อป (Workshop) 3 ครั้งที่นักศึกษาจากสองคณะต้องเข้ามาทำงานร่วมกัน
ซึ่งผลจากการเวิร์กช็อปทั้ง 3 ครั้งนี้ทำให้นักศึกษาทั้งสองคณะได้มาเรียนรู้ในสิ่งที่ต่างกัน เช่น นักศึกษาทางฝั่งคณิตก็จะได้ลองใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ ได้ลองตัดโมเดลขึ้นมาจริง ๆ โดยได้รับความช่วยเหลือจากนักศึกษาสถาปัตย์ ขณะที่นักศึกษา สถาปัตย์ก็จะได้ออกแบบอาคารผ่านตรรกะ สมการ และแนวคิดทางคณิตศาสตร์ แน่นอนว่าผลงานตัวจบจากรายวิชานี้เป็นที่น่าพึงพอใจและชิ้นงานมีความหลากหลายมากขึ้น
ข้อจำกัดในการเรียนการสอน
อุปสรรคหลัก ๆ ของการบูรณาการ 2 วิชาเข้าด้วยกันคือ เวลาเรียนที่ไม่ตรงกัน ซึ่งอาจารย์นัทได้แชร์ถึงวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า ในช่วงเริ่มต้นคอร์สเรียนให้ตกลงกับนักศึกษาก่อนว่าเทอมนี้เราจะจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เพราะฉะนั้นอาจเหนื่อยนิดหน่อย และอาจมีวันที่ต้องมาเรียนร่วมกัน ซึ่งอาจารย์นัทคิดว่า
ถ้าจะให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกไปกับเรียน เราต้องไม่ไปเพิ่มภาระให้นักศึกษา
จึงใช้วิธีว่า สัปดาห์ไหนที่มีการจัดบูรณาการ อาจารย์จะยกเลิกคลาสในคาบปกติเพื่อใช้เวลาให้อยู่กับการบูรณาการ พยายามไม่สั่งงานมากเกินไปและให้งานมันจบในห้อง
อาจารย์ภูเสริมต่อไปว่า ฝั่งสถาปัตย์ก็เช่นเดียวกัน คือ ยกเลิกเวลาเรียนเดิมในวันที่มีคาบบูรณาการ ซึ่งนักศึกษาฝั่งสถาปัตย์ก็จะดีใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเวลาเรียนลดลง จาก 5 ชั่วโมงเหลือ 3 ชั่วโมง นักศึกษาก็จะกระตือรือร้นมากขึ้น เพราะเมื่อได้สมการเราก็ขึ้นแบบตัวอาคารได้เลย
“ผมว่ามันเป็นข้อท้าทายที่ดี แต่เราก็ต้องจัดการการบริหารให้ดีด้วย” อาจารย์นัทพูดยิ้ม ๆ
เทคนิคการจัดการวิชาแบบบูรณาการที่เวลาเรียนไม่ตรงกัน
แจ้งนักศึกษาและทำข้อตกลงในช่วงเริ่มต้นคอร์ส ว่า จะมีการเรียนการสอนแบบบูรณาการและอาจมีวันที่ต้องมาเรียนร่วมกันของ 2 วิชา
ยกเลิกคลาสปกติเพื่อให้ได้ใช้เวลากับการบูรณาการ (ผลการลดคลาสปกติลง ทำให้นักศึกษากระตือรือร้นในคาบบูรณาการมากขึ้น)
พยายามไม่สั่งงานมากเกินไป และ ให้ทำงานที่จบในห้อง (ไม่เพิ่มภาระให้นักศึกษา)
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการสอน
“การสื่อสาร ปกตินักศึกษาสถาปัตย์จะทำงานคนเดียว หนึ่งคนต่อหนึ่งอาคาร การสื่อสารแนวคิดการออกแบบให้นักศึกษาวิทย์เข้าใจว่าคิดอย่างไร ทำไมถึงพล็อตแบบนี้ ขึ้นรูปแบบนี้ ทำให้ได้ฝึกการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สถาปัตย์เมื่อเรียนจบไป ก็ต้องออกแบบร่วมกับฝั่งวิศวกรรม ฝั่งคณิตศาสตร์ เพราะฉะนั้นการมาเจอเพื่อนคนอื่น ทำให้เกิดการทำงานร่วมกัน และนักศึกษามีความอ่อนโยนขึ้น มีการสื่อสาร พูดคุยมากขึ้น” อาจารย์ภูเล่า
“ผมอยู่ในโลกของคณิตศาสตร์บางทีในแง่ของการไปประยุกต์ หลายคนจะถามว่า เราเรียนคณิตศาสตร์กันเยอะแยะเนี่ย เรียนไปทำไม? เมื่อไปบูรณาการกับโจทย์จริงจะทำให้เขาเห็นภาพชัดเจนเลยว่า เวลาเขาเรียน เขาสามารถนำความรู้ไปต่อยอดได้อย่างไรบ้าง แล้วก็ผมคิดว่าผมได้ชุดความรู้ในเรื่องของการประยุกต์งานด้านคณิตศาสตร์เข้ากับงานด้านสถาปัตย์” อาจารย์นัทเล่า
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่อาจารย์ทั้งสองท่านอยากเห็นจากการบูรณาการวิชาเรียน คือ
การเรียนรู้การทำงานด้วยกัน ด้วยธรรมชาติของความแตกต่างระหว่างเด็กวิทย์และเด็กศิลป์ บางครั้งอาจเกิดสื่อสารที่ผิดพลาด ไม่เข้าใจกัน เพราะฉะนั้นอาจารย์จึงคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ดีที่นักศึกษาจะได้ทำความรู้จักกัน ได้เปิดโลกกว้างมากขึ้น เมื่อนักศึกษาเปิดโลกกว้างมากขึ้น เขาจะเข้าใจคนอื่น ๆ เข้าใจตัวเองมากยิ่งขึ้น และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ข้อความถึงอาจารย์ท่านอื่น
“บางครั้งเราถูกแบ่งตามคณะมากเกินไป รู้จักแต่ศาสตร์ด้านเดียว ฉะนั้นการเปิดประตูบูรณาการร่วมกันทำให้เราได้เรียนรู้ศาสตร์ วิทยาการอื่น ๆ และได้ความรู้ที่ชัดเจนขึ้น หากอาจารย์ท่านไหนอยากเปิดประตูตัวเอง เห็นความเชื่อมโยงทางความรู้ในวิชาตัวเองกับศาสตร์ไหน สร้างมันขึ้นมาเลย เพราะนี่คือทางออกของมหาวิทยาลัยในยุคปัจจุบัน” อาจารย์ภูเชิญชวน
ในช่วงการระบาดของโควิด 19 มีข้อความหนึ่งที่มักจะได้เห็นบ่อย ๆ คือ “ความรู้มีในยูทูป วิดีโอ คอร์สออนไลน์ แล้วมหาวิทยาลัยจะยังคงสำคัญอยู่ไหม” การสร้างคุณค่าให้กับนักศึกษา คือ คำตอบของอาจารย์นัท โดยอาจารย์ได้เสริมต่อไปว่า เมื่อเราเปลี่ยนโจทย์เป็นเราจะให้คุณค่าอะไรกับนักศึกษาของเราบ้าง วิธีการคิดจะเปลี่ยน แล้วเราก็จะได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่นักศึกษาของเรา
ก่อนจบการสัมภาษณ์อาจารย์นัทได้ชวนให้อาจารย์ทุกท่านลองหาคำตอบของโจทย์
‘เราจะให้คุณค่าอะไรกับนักศึกษา นอกเหนือจากการที่เขาจะไปเรียนคอร์สออนไลน์ หรือเรียนทั่ว ๆ ไปในอินเทอร์เน็ต’
ซึ่งทางออก วิธีการและคำตอบของอาจารย์นัทเองก็มีส่วนหนึ่งมาจากทุน TLIC Type C
“ขอทุน Type C ไม่ยากจนเกินไป” อาจารย์นัททิ้งท้าย
ที่มาคลิปวิดิโอต้นฉบับ: https://fb.watch/oM9oZT_NsR/
เรียบเรียงโดย ซูไรญา บินเยาะ
(TLIC JUNIOR#3 - Writer)
นักศึกษาโครงการ Digital Learning Support; DLA 2/2566
Comments