top of page
  • รูปภาพนักเขียนTLIC CMU

[CMU Ed Talks] บทสัมภาษณ์จาก อ.สมเกียรติ อินทสิงห์ ผู้ได้รับรางวัล Distinguished Educator 2023

ถอดบทสัมภาษณ์จากรายการ CMU ED Talks CMU: 21st Century Learning 2023

| The Change Maker | EP.04 Distinguished Educator 2023



อาจารย์สมเกียรติ อินทสิงห์ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะอาจารย์ต้นแบบเจ้าของรางวัล Distinguished Educator 2023


ได้มาร่วมพูดคุยและเผยเคล็ดลับการพัฒนาการสอน ที่เน้น “เปิดใจรับฟัง” และ “ปรับตามความต้องการของผู้เรียน”

“การสอนเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง“
- อาจารย์สมเกียรติ อินทสิงห์



แรงบันดาลใจในการพัฒนาการเรียนรู้

อาจารย์สมเกียรติเล่าว่า แรงบันดาลใจแรกมาจากธรรมชาติของนักศึกษาปริญญาโทในภาคพิเศษที่มักมีพื้นฐานความรู้มาบ้าง แต่ก็ยังขาดองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในวิชาการบริหารหลักสูตร ซึ่งเป็นวิชาที่ยากและต้องใช้ความรู้หลากหลายศาสตร์ร่วมกัน อาจารย์จึงมองว่านี่คือโอกาสที่จะสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหางานในด้านของหลักสูตรของโรงเรียนในบริบทของวิชาชีพครู

แรงบันดาลใจที่สองมาจากตัวอาจารย์เองที่อยากจะท้าทายตัวเองและทดลองใช้รูปแบบการสอนใหม่ๆ อาจารย์จึงอยากลองทำ Microlearning หรือคลิปการสอนสั้นๆ เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และทบทวนก่อนมาพูดคุยกันในชั้นเรียน ซึ่งก็เหมาะกับ Learning Style ของนักศึกษาในปัจจุบัน

แรงบันดาลใจที่สามมาจากความต้องการของนักศึกษาที่อยากให้อาจารย์เชิญวิทยากรภายนอกมาแชร์ความรู้และประสบการณ์เพิ่มเติม อาจารย์เห็นว่านี่จะเป็นโอกาสที่ดีในการเปิดโลกทัศน์ให้กับนักศึกษาและช่วยให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากมุมมองที่หลากหลาย

และแรงบันดาลใจสุดท้ายมาจากข้อจำกัดของนักศึกษาปริญญาโทที่มักมีเวลาเรียนจำกัด อาจารย์จึงพยายามออกแบบการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและช่วยให้นักศึกษาเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง



กระบวนวิธีที่ใช้ในการสอน

อาจารย์สมเกียรติเล่าว่า กระบวนวิธีในการสอนนั้น เริ่มจากการวิเคราะห์บริบทของผู้เรียนและสาระที่จะสอน จากนั้นจึงคัดเลือกวิธีสอนที่เหมาะสม โดยเน้นกิจกรรมการเรียนการสอนที่ช่วยให้นักศึกษามีส่วนร่วมและเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง


กระบวนวิธีที่ท่านได้ใช้ในการสอนวิชาการบริหารหลักสูตร มีดังนี้

  • Flipped Classroom หรือห้องเรียนกลับด้าน เป็นวิธีสอนที่ให้นักศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองก่อนเข้าชั้นเรียน โดยอาจารย์จะอัดคลิปวิดีโอหรือสร้างสื่อการเรียนรู้อื่น ๆ ไว้ให้นักศึกษาศึกษาล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาเรียนอาจารย์จะเปิดโอกาสให้นักศึกษาอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนมา

  • Work-based Learning เป็นวิธีสอนที่เชื่อมโยงการเรียนรู้กับโลกแห่งการทำงาน โดยอาจารย์จะมอบหมายให้นักศึกษาไปสัมภาษณ์ผู้ที่ปฏิบัติงานจริงในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง จากนั้นให้นักศึกษานำข้อมูลมานำเสนอและแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในชั้นเรียน

  • Design Thinking Process เป็นกระบวนการคิดเชิงออกแบบที่ช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์ โดยอาจารย์จะแบ่งนักศึกษาออกเป็นกลุ่ม ๆ แล้วให้แต่ละกลุ่มคิดนวัตกรรมเกี่ยวกับการบริหารหลักสูตร จากนั้นนักศึกษาจะนำเสนอผลงานต่อชั้นเรียน

  • Analytical Reflective Discussion เป็นกิจกรรมอภิปรายที่เน้นการคิดวิเคราะห์และสะท้อนคิดโดยใช้เหตุผล โดยอาจารย์จะตั้งคำถามหรือประเด็นให้นักศึกษาอภิปรายร่วมกัน

  • Digital Platform เป็นการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลหรือแอปพลิเคชันต่างๆ ในการจัดการเรียนรู้ เช่น Padlet สำหรับการแชร์ข้อมูลและความคิดเห็น, Metricmeter สำหรับการสำรวจและแชร์ความคิดเห็น และ Kahoot สำหรับการเล่นเกม

อาจารย์สมเกียรติยังได้กล่าวอีกว่า กระบวนวิธีที่ใช้ในการสอนเหล่านี้ ช่วยให้นักศึกษามีความกระตือรือร้นในการเรียนมากขึ้น เข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น และเกิดผลนวัตกรรมในการแก้ปัญหางานในด้านของหลักสูตรของโรงเรียนในบริบทของวิชาชีพครู



สิ่งที่ได้จากการพัฒนาการสอน

จากการปรับเปลี่ยนวิธีการสอน พบว่า นักศึกษามีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านทักษะการคิดเชิงระบบ การคิดสร้างสรรค์ การทำงานเป็นทีม และรับผิดชอบต่อหน้าที่ นอกจากนี้ นักศึกษายังมีมุมมองความคิดที่กว้างไกลมากขึ้น และสนใจในศาสตร์ของการบริหารหลักสูตรมากขึ้น อาจารย์เองก็ได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากการสอนครั้งนี้

โดยพบว่าการสอนเป็นงานที่ต้องใช้ปฏิสัมพันธ์กับคน และต้องปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ อาจารย์ต้องเรียนรู้และทำความสนใจในการเรียนรู้ของผู้เรียน ความคาดหวังของผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เนื้อหาสาระ และเกณฑ์ในการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และแนวทางการสอนของอาจารย์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


4 ส. ฝากถึงอาจารท่านอื่นที่อยากพัฒนาการสอน 

4 ส. สำหรับการพัฒนาการสอน สืบเสาะ สื่อสาร สร้างสรรค์ สั่งสม

อาจารย์สมเกียรติได้ฝาก 4 ส. ไว้ให้กับอาจารย์ท่านอื่นที่อยากพัฒนาการสอน ดังนี้

  1. สืบเสาะ อาจารย์ควรแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ

  2. สื่อสาร อาจารย์ควรสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน นักศึกษา และสังคมวงกว้างมากขึ้น

  3. สร้างสรรค์ อาจารย์ควรสร้างสรรค์สื่อการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายและน่าสนใจ

  4. สั่งสม อาจารย์ควรเก็บรวบรวมองค์ความรู้และข้อมูลต่าง ๆ ไว้ หมั่นอ่านหนังสือ ศึกษาข้อมูล และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น องค์ความรู้และข้อมูลเหล่านี้จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาการสอนของอาจารย์

นอกจากนี้อาจารย์สมเกียรติยังได้กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การพัฒนาการสอนของอาจารย์นั้นเป็นสิ่งที่ต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด เพราะผู้เรียนมีความต้องการและความสนใจที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ เนื้อหาสาระและเกณฑ์ในการทำงานก็เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น อาจารย์จึงต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

 

“เพราะการสอนเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดยั้ง“

 

ที่มาคลิปวิดิโอต้นฉบับ: https://fb.watch/oOt8E_sRgr/



เรียบเรียงโดย มัลลิกา ชนะบัว

(TLIC JUNIOR#3 - Writer)

นักศึกษาโครงการ Digital Learning Support; DLA 2/2566

ดู 48 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page