top of page
  • รูปภาพนักเขียนTLIC CMU

[CMU ED Talks] บทสัมภาษณ์จาก ผศ.ดร. วัชรพงศ์ และ ผศ.ดร. ทฤษฎี ผู้พิชิตรางวัล Distinguished Educator

ถอดบทสัมภาษณ์จากรายการ CMU ED Talks CMU: 21st Century Learning 2023

| The Change Maker | EP.02 Distinguished Educator Award 2023



ร่วมไขความลับ...กว่าจะเป็นอาจารย์ต้นแบบแถวหน้าของ มช. ไปพร้อม ๆ กับ CMU Ed talks ปี 2023 จากการสัมภาษณ์อาจารย์ต้นแบบปีล่าสุด ได้แก่


ผศ.ดร. วัชรพงศ์ นรพัลลภ และ

ผศ. ดร. ทฤษฎี คำหล่อ

จากภาควิชาสัตวศาสตร์และสัตว์น้ำ

คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


ที่ได้รับรางวัล Distinguished Educator 2023 จากการใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบยกระดับด้วยเทคนิค Active ICT และ โครงงาน plus




แรงบันดาลใจในการพัฒนาการเรียนรู้

อาจารย์ทั้งสองท่านเล่าว่าต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21

โดยต้องการให้นักศึกษามีความสุขกับการเรียน เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จมากยิ่งขึ้น

      ผศ.ดร.วัชรพงศ์ซึ่งประสบความสำเร็จในการใช้ ระบบ AIPL ในการจัดการการเรียนการสอนจนได้รับรางวัล Best Practice Award 2020 ท่านจึงได้เกิดไอเดียที่จะพัฒนาและต่อยอดระบบ AIPL สู่ระบบ AIPL+ ซึ่งมีการนำเครื่องมือและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาเสริมสร้างในการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และสามารถนำมาใช้ในคลาสเรียนที่มีความหลากหลายและมีขนาดใหญ่ขึ้นได้


      ท่านจึงได้ชักชวน ผศ.ดร.ทฤษฎี ซึ่งมีคลาสเรียนที่มีขนาดใหญ่และมีความหลากหลายของนักศึกษาในคลาสมาร่วมกันพัฒนาการเรียนการสอนโดยระบบ AIPL+ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนและบูรณาการการเรียนของนักศึกษาให้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น



กระบวนวิธีที่เลือกใช้ในการสอน

      อาจารย์ทั้งสองท่านได้เลือกใช้วิธีการเรียนการสอนในลักษณะที่เป็น Flipped Classroom โดยเพิ่มการเรียนรู้แบบ Asynchronous Learning และ กิจกรรม AIPL+ ซึ่งมีการใช้ Active learning ICT Base และ Project Base Learning มาผสมผสานกัน รูปแบบการเรียนการสอนในกระบวนวิชานี้จึงประกอบด้วย 4 รูปแบบหลัก ๆ ดังนี้


  1. คลิปวิดีโอการสอนที่ผู้สอนบันทึกการสอนไว้ล่วงหน้า

  2. สร้าง Interactive Video โดยการสอดแทรกคำถามในระหว่างคลิปวิดีโอ เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ โดยคำถามเหล่านี้จะเชื่อมโยงกับเนื้อหาในคลิปวิดีโอในแต่ละบทเรียน

  3. สร้างพื้นที่ให้นักศึกษาได้เปลี่ยนบทบาทจากผู้เรียนมาเป็นผู้ให้และแบ่งปันความรู้แทนที่ โดยให้นักศึกษาแต่ละคนได้ทำ Mind Map ขนาดใหญ่ของแต่ละบทเพื่อแชร์ประเด็นต่าง ๆ ที่ได้เรียนมาในแต่ละบทร่วมกัน และการทำแผ่นพับให้ความรู้

  4. สร้างบอร์ดเกมเพื่อเผยแพร่ความรู้สู่นอกคลาสเรียน โดยบอร์ดเกมผู้สอนได้ให้นักศึกษาร่วมกันประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนการสอนและประสบการณ์จริงมาออกแบบและจัดทำบอร์ดเกมความรู้เกี่ยวกับสัตว์


:: สรุปเทคนิคและเครื่องมือน่าสนใจที่อาจารย์นำมาใช้งานในการสอน ::

Flipped Classroom โดยเพิ่มการเรียนรู้แบบ Asynchronous Learning และ กิจกรรม AIPL+ ซึ่งมีการใช้ Active learning ICT Base และ Project Base Learning มาผสมผสานกัน

  • มีคลิปวิดิโอสอนล่วงหน้า (ยาว15-25นาที)

  • Interactive Video สอดแทรกคำถาม

  • Mind Map แบ่งปันความรู้

  • เป็นผู้แบ่งปันความรู้ด้วยการสร้างบอร์ดเกม


สิ่งที่ได้จากการพัฒนาการจัดการเรียนการสอน

      อาจารย์ทั้งสองท่านกล่าวว่าได้รับประโยชน์มากมายจากการพัฒนาการเรียนการสอนในครั้งนี้

โดยสิ่งที่ถือว่าประสบความสำเร็จมากที่สุด คือการได้เห็นนักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้อย่างมีความสุข มีศักยภาพในการบูรณาการความรู้และทักษะต่างๆ ที่ได้รับจากกิจกรรมต่างๆ มาใช้ในชิ้นงาน และยังได้รับการตอบรับที่ดีจากนักศึกษา

เนื่องจากนักศึกษามีความพึงพอใจต่อรูปแบบการเรียนการสอนนี้เป็นอย่างมาก โดยให้คะแนนสูงถึง 84% เมื่อเทียบกับรูปแบบการเรียนแบบเดิม อีกทั้งอาจารย์ผู้สอนเองยังได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ อาจารย์ทั้งสองท่านยังได้รับทราบถึงข้อจำกัดบางประการที่ต้องปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาในการจัดการการเรียนรู้ในปีการศึกษาต่อ ๆ ไป เช่น นักศึกษาบางส่วนอาจไม่ทันเวลาหรือขาดความสนใจในการทำกิจกรรม การขาดระบบติดตามผลว่านักศึกษาได้ดูคลิปวิดีโอครบถ้วนหรือไม่ เป็นต้น


      อาจารย์ทั้งสองท่านจึงได้แก้ปัญหาด้วยการแจ้งเตือนนักศึกษาอย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ เช่น MS Team นอกจากนี้ ยังได้แบ่งกิจกรรมออกเป็นช่วงๆ เพื่อให้นักศึกษาสามารถแบ่งเวลาทำกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม ส่วนการติดตามการเรียนรู้ของนักศึกษา อาจารย์ทั้งสองท่านก็มีแผนที่จะพัฒนาสู่ระบบ AIPL Pro Max ซึ่งมีระบบติดตามผลว่านักศึกษาได้ดูคลิปวิดีโอครบถ้วนหรือไม่ โดยเพิ่มระบบฟอร์มเข้าไปเพื่อเก็บข้อมูลการเข้าชมคลิปวิดีโอของนักศึกษา



อยากฝากอะไรให้กับอาจารย์ท่านอื่นที่อยากพัฒนาการเรียนการสอน

      อาจารย์ทั้งสองท่านได้ฝากคำแนะนำสำหรับอาจารย์ท่านอื่นที่อยากพัฒนาการเรียนรู้ว่า

อย่ากลัวที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ ถึงแม้ว่าอาจจะไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เพราะการเรียนรู้จากการลงมือทำจริงนั้น จะช่วยให้เข้าใจถึงแนวทางการจัดการและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      อีกทั้งการขอทุนเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอาจารย์ที่จะได้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งทาง TLIC ก็ได้มีโครงการทุนต่าง ๆ ในการสนับสนุนและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ นอกจากนี้ อาจารย์ควรมีการวางแผนอย่างรอบคอบก่อนที่จะเริ่มทดลองสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและประสิทธิผลตามที่ต้องการ โดยควรพิจารณาปัจจัยต่างๆ เช่น เป้าหมายของโครงการ ทรัพยากรที่จำเป็น และระยะเวลาในการดำเนินการ เป็นต้น


      และที่สำคัญอาจารย์ควรให้ความสำคัญกับผลลัพธ์ของโครงการ เช่น ระดับความพึงพอใจของนักศึกษา ประสิทธิภาพของการเรียนรู้ และประสิทธิผลของการสอน เพราะเมื่อนักศึกษามีความสุขกับการเรียนรู้ ก็จะทำให้การเรียนรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น



ที่มาคลิปวิดิโอต้นฉบับ: https://fb.watch/oluVyWIdhx/



เรียบเรียงโดย มัลลิกา ชนะบัว

(TLIC JUNIOR#3 - Writer)

นักศึกษาโครงการ Digital Learning Support; DLA 2/2566

ดู 24 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page