ถอดบทสัมภาษณ์จากรายการ CMU ED TALKS 21st Century Learning การจัดการเรียนการสอนผ่านประสบการณ์จากอาจารย์ต้นแบบ มช. EP.3
ผศ. ดร. ณัชชา กมล จากคณะศึกษาศาสตร์ ผู้ได้รับรางวัล Exemplary Award ผ่านการใช้วิธีการสอนที่ล้ำสมัย ผสมผสานเทคโนโลยี เข้าใจผู้เรียน และสร้างแรงบันดาลใจ รางวัล Exemplary Award นี้ ผศ. ดร. ณัชชา กมล ได้รับจากการใช้ทุน Type B จากมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาการจัดการสอนในรายวิชา "การจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในระดับมัธยม" โดยเน้นวิธี Active Learning และ Flipped Classroom ซึ่งมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม ออกแบบการเรียนรู้แบบอภิปรายอย่างมีประสิทธิภาพ และนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
กลยุทธ์การสอนที่เน้นผู้เรียน
1. การส่งเสริมการออกแบบการเรียนรู้แบบอภิปราย: มุ่งเน้นไปที่การให้นักเรียนมีบทบาทนำในการเรียนรู้ โดยท่านได้จัดเตรียมกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การอภิปราย บทบาทสมมติ และ Simulation เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ แลกเปลี่ยนความคิด และสร้างความรู้ร่วมกัน
2. การออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย: ทำความเข้าใจว่านักศึกษาแต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน จึงต้องมีการออกแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผ่านสื่อการสอนที่เข้าถึงง่าย เช่น Google Sites คลิปวิดีโอสั้น ๆ และกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนนำไปประยุกต์ใช้ได้
3. การใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้: ใช้ Google Sites เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับอัปโหลดแหล่งการเรียนรู้ เอกสารประกอบ และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงเนื้อหาได้ทุกที่ทุกเวลา และช่วยให้การเรียนรู้ยืดหยุ่นและสะดวกยิ่งขึ้น
4. การสร้างแรงจูงใจและแรงบันดาลใจ: ออกแบบ Course Syllabus ที่ยืดหยุ่นและปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของนักเรียน อีกทั้งยังเชิญผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกมาแบ่งปันประสบการณ์เพิ่มเติม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและมุมมองใหม่ ๆ ให้กับนักศึกษา
5. การส่งเสริมบทบาทของผู้สอน: ผู้สอนไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงผู้บรรยาย แต่ยังมีบทบาทเป็นใจการเป็นผู้นำการอภิปรายและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ เพื่อช่วยเชื่อมโยงความคิดของนักศึกษา สร้างการเรียนรู้แบบองค์รวม สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการอภิปราย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสะท้อนความคิด และสนับสนุนให้นักศึกษามีส่วนร่วมกับกิจกรรมในชั้นเรียนได้อย่างเต็มที่
6. แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และเติบโต: เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความคิด และเรียนรู้จากกันและกัน ผ่านการสะท้อนความคิด (Reflection) เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และการเรียนรู้จากสถานการณ์จริง ผ่านกิจกรรมบทบาทสมมติ Simulation และการออกปฏิบัติจริงในสถานศึกษาต่าง ๆ
ผลลัพธ์ที่น่าประทับใจ: กลยุทธ์การจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ Active learning และ Flipped classroom ส่งผลดีต่อผู้เรียนอย่างเห็นได้ชัด ดังนี้
แรงจูงใจในการเรียนรู้: นักศึกษามีความตื่นตัว ใฝ่รู้ และอยากเรียนรู้มากขึ้น
การเข้าใจเนื้อหา: นักศึกษามีความเข้าใจเนื้อหาบทเรียนอย่างลึกซึ้ง สามารถวิเคราะห์ แก้ปัญหา และประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทักษะที่จำเป็น: นักศึกษามีทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกัน และการคิดวิเคราะห์ที่พัฒนาขึ้น
การแบ่งปันการจัดการเรียนรู้ของ ผศ. ดร. ณัชชา กมล เป็นตัวอย่างของการจัดการเรียนรู้ที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ กลยุทธ์การสอนของท่านเปรียบเสมือน "เมล็ดพันธุ์แห่งการเรียนรู้" ที่ปลุกไฟแห่งการเรียนรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม คิดวิเคราะห์ และเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ กลยุทธ์เหล่านี้ ย่อมเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นแนวทางให้กับอาจารย์ท่านอื่น ๆ ในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพในศตวรรษที่ 21
“ทุกกิจกรรมคือแหล่งเรียนรู้ ทั้งผู้เรียน และผู้สอน”
ที่มาคลิปวิดิโอต้นฉบับ: https://youtu.be/1Jwc1kUbOAs?si=H8BOw-GRV-f74L0R
เรียบเรียงโดย มัลลิกา ชนะบัว
(TLIC JUNIOR#3 - Writer)
นักศึกษาโครงการ Digital Learning Support; DLA 2/2566
Commentaires