กลับมาพบกันอีกครั้งกับถอดบทเรียนจากรายการ CMU21st Talk Century Learning Day 2020 ซึ่งครั้งนี้พบกับอาจารย์อีกหนึ่งท่านที่ได้รับรางวัล Best Practice Award รางวัลแนวปฏิบัติที่ดีในกระบวนวิชา เรขาคณิตวิเคราะห์ทรงตัน อาจารย์ ดร. ศุภณัฐ ชัยดี หรืออาจารย์นัท จากภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ พร้อมกับการบรรยายเคล็ดลับการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21
อาจารย์นัท หรือ ดร. ศุภณัฐ ชัยดี Best Practice Award รางวัลแนวปฏิบัติที่ดีในกระบวนวิชา
อาจารย์เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงคติของบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่บุคคลที่เรียนคณิตศาสตร์ว่า คณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่ยาก คณิตศาสตร์เป็นเรื่องที่นามธรรม คณิตศาสตร์เราเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร? ซึ่งโจทย์ในการสอนกระบวนวิชา 206207 เรขาคณิตวิเคราะห์ทรงตัน (Solid Analytic Geometry) คือ การพิสูจน์ให้นักศึกษาเห็นถึงมุมอีกด้านของคติที่ว่า สิ่งที่มีความเป็นนามธรรม หรือไม่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตเป็นประจำวันนั้น จริง ๆ แล้ว อาจไม่ได้ถูกต้องเสียทีเดียว
ธรรมชาติพื้นฐานของการสอนคณิตศาสตร์มักจะเป็นลักษณะการเรียนการสอนแบบการสาธิต ครูผู้สอนจะทำหน้าที่ในการแสดงและพิสูจน์ทฤษฎีบท แล้วจึงปล่อยให้นักศึกษาทำการปฏิบัติเป็นการบ้าน ซึ่งนักศึกษาแต่ละคน โดยเฉพาะธรรมชาติของการเป็นนักศึกษาคณิตศาสตร์จะมีความเป็นปัจเจกบุคคลค่อนข้างสูง ดังนั้นอาจารย์จึงต้องพยายามหาวิธีการปรับการเรียนการสอนอย่างไรให้ดีมากยิ่งขึ้น
รายวิชา 206207 เรขาคณิตวิเคราะห์ทรงตัน เป็นรายวิชาเลือกสำหรับกลุ่มนักศึกษาคณิตศาสตร์และนักศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นจากข้อมูลที่อาจารย์ได้ศึกษาพบว่า มีทั้งนักศึกษาชั้นปีที่ 4 และ 5 จากภาควิชาคณิตศาสตร์ โดยนักศึกษากลุ่มนี้มีพื้นฐานในการอ่านบทความทางวิชาการมาก่อน และนักศึกษากลุ่มใหญ่ของห้องเรียน คือ นักศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ ซึ่งธรรมชาติของการเป็นนักศึกษาศาสตร์อยู่ อีกทั้งยังมีนักศึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์มาเรียนเป็นวิชาเลือกเสรี
การปรับกระบวนทัศน์ให้ห้องเรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
โจทย์อย่างหนึ่งที่อาจารย์จะต้องคำนึงในการสอน คือ กระบวนวิชานี้ เป็นกระบวนวิชาที่ไม่มีวิชาที่ต้องผ่านมาก่อน ดังนั้นจึงต้องทำเสมือนว่านักศึกษาไม่เคยมีความรู้ของระดับปี 1 ปี 2 มา และสมมติว่านักศึกษามีความรู้ระดับมัธยมปลาย เพราะฉะนั้นในการปรับกระบวนทัศน์ของวิชานี้ หลัก ๆ แล้วอาจารย์ต้องการที่จะปรับเปลี่ยนจากการที่ผู้สอนออกมาบรรยาย มาแสดงตัวอย่างให้ดู เป็นการปรับห้องเรียนเป็นห้องเรียนกลับด้าน (Flipped classroom) โดยวิธีการดังนี้
ศึกษาเนื้อหานอกชั้นเรียนล่วงหน้า เนื่องจากความเป็นนามธรรมของคณิตศาสตร์ ไม่ใช่ทุกคนที่จะอ่านแล้วเข้า อาจารย์จึงต้องมีการจุดประกาย มีการชี้แนะให้เห็นถึง Point ต่าง ๆ ของบทเรียนผ่านสื่อวิดีโอที่จัดทำไว้
ให้นักศึกษานำเนื้อหามาอภิปรายร่วมกันในห้องเรียน
ใช้เทคโนโลยีประกอบการเรียน เพื่อความเข้าใจที่มากขึ้น
อภิปรายบทความวิจัย สิ่งประดิษฐ์ หรือนวัตกรรม
เนื่องจากเนื้อหาจากบทเรียนถูกย้ายไปอยู่ในสื่อวิดีโอ ในชั้นเรียนจึงเน้นการทำกิจกรรม Team spirit เป็นส่วนใหญ่ เพื่อพัฒนาทักษะในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวิชาการ รวมถึงทักษะอื่น ๆ เช่น Soft skill เป็นต้น โดยกิจกรรม Team spirit คือ การพยายามจัดกลุ่มนักศึกษาให้คละคณะกัน เพราะอาจารย์เชื่อว่าการที่นักศึกษาได้เห็นความแตกต่าง เห็นความหลากหลายจะเป็นประโยชน์ในการเรียนและสร้างบรรยากาศให้เกิดการเรียนร่วมกัน
การออกแบบการเรียนการสอนในห้องเรียน
ในหนึ่งคาบเรียน แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก โดยกิจกรรมช่วงกลางคาบจะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่กำลังสอน
ลำดับ | เนื้อหา | ระยะเวลา |
ต้นคาบ | การนำเข้าสู่บทเรียน ทบทวนประเด็นจากวิดีโอ | 20 นาที |
กลางคาบ | แบ่งกลุ่มอภิปรายแบบฝึกหัด, Plot กราฟ, นำเสนอบนกระดาน, แนะนำ | 40-50 นาที |
ท้ายคาบ | สรุปเนื้อหาที่เรียน, ทิ้งท้ายด้วยประเด็นของคาบต่อไป | 15 นาที |
ปรัชญาอย่างหนึ่งที่อาจารย์เชื่อเสมอมา คือ การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 บางทีอาจจะไม่จำเป็นที่จะต้องวาดมือทุกเส้น วาดกราฟทุกเส้นให้เห็นชัดเจน แต่ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีหลาย ๆ ตัว เครื่องมือหลากหลายเครื่องมือเข้ามาช่วย ดังนั้นการเลือกใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือช่วยที่เหมาะสมจะช่วยเอื้อต่อการเรียนรู้ให้กับนักศึกษา
ในกระบวนวิชานี้ อาจารย์ได้ใช้เทคโนโลยีอยู่หลัก ๆ 3 ส่วน คือ
CMU Online (KC-moodle ของทาง ITSC) สำหรับการจัดการทรัพยากรในชั้นเรียน
Facebook Group สำหรับใช้ติดต่อสื่อสารกับนักศึกษาแบบ Real Time
GeoGebra Program สำหรับทำ visualize กราฟต่าง ๆ ทั้งกราฟใน 2 มิติ และกราฟใน 3 มิติ ซึ่งข้อดี คือ ใช้ได้ทุกแพลตฟอร์ม ใช้งานได้ดีและใช้งานได้ฟรี รวมไปถึงโปรแกรมนี้มี learning curve ต่ำ ดังนั้นจึงใช้เวลาศึกษาวิธีการใช้ไม่มากนัก
การบรรยายสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาอาจารย์ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังจากที่อาจารย์ได้ศึกษานักศึกษาในชั้นเรียน พบว่า นักศึกษาส่วนมากมีความอยากเป็นครู อาจารย์จึงคิดหาแนวทางในการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างเรื่องราวที่จะทำให้นักศึกษามีเรื่องเล่าให้กับผู้เรียนของเขาในอนาคตต่อไป จึงจัดกิจกรรม ‘การบรรยาย’ การบรรยายพิเศษเพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิชาเรขาคณิตวิเคราะห์
ซึ่งก็ได้รับเกียรติจากอาจารย์ศุภวิทย์ ถาวรบุตร ภาควิชาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แต่งหนังสือเรื่อง กุญแจแห่งฟากฟ้า มาบรรยายในหัวข้อเรื่อง คณิตศาสตร์ก่อนวันของเรา มองเรขาคณิตผ่านประวัติศาสตร์
เพื่อให้การฟังบรรยายมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นอาจารย์จึงมอบหมายให้นักศึกษาทำการบ้านมาก่อนด้วยการอ่านหนังสือที่ผู้บรรยายเป็นคนเขียน เมื่ออ่านเสร็จแล้วจึงให้ตั้งประเด็นคำถามว่า ‘มีประเด็นอะไรที่สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้อีกบ้าง’ ในวันที่เป็นการบรรยาย หลังจากวิทยากรบรรยายเรียบร้อยแล้วก็เกิดการแลกเปลี่ยน discussion กันระหว่างนักศึกษาแล้วก็ผู้บรรยาย ซึ่งผู้บรรยายท่านก็ชมมาว่าคำถามดีมาก ๆ
รายละเอียดการทำโปรเจกต์จบของรายวิชา เรขาคณิตวิเคราะห์ทรงตัน
นอกเหนือจากการเชิญวิทยากรมาบรรยายแล้ว สิ่งที่เป็นไฮไลท์สำคัญของวิชานี้ คือ การทำ Project ด้วยความเชื่อของอาจารย์เชื่อว่า การที่เราจะทำงานอะไรสักอย่างหนึ่งที่เป็นนวัตกรรมหรือ Project ความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐานและความรู้คณิตศาสตร์พื้นฐาน เป็นพื้นฐานสำคัญที่เราพัฒนาและต่อยอดไปได้ ดังนั้นในฐานะที่นักศึกษาจะเติบโตไปเป็นครูโรงเรียน สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เลย คือ การเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานของโรงเรียน เพราะฉะนั้นหากนักศึกษาได้รับไอเดียที่ดี ก็จะนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
กระบวนการทำโปรเจกต์
ศึกษาบทความทางวิชาการ ที่เป็นประเด็นร่วมสมัย จากบทความการประชุมวิชาการ ‘Bridges’ ซึ่งเป็นการประชุมที่เชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์และเรื่องของการประยุกต์ทางด้านงานศิลปะ หรืองานสถาปัตยกรรมต่าง ๆ
เลือกหัวข้อบทความที่สนใจ แล้วจึงให้นักศึกษาไปลองค้นหาว่ากิจกรรมใดที่สามารถต่อยอดมาจากบทความได้ ทั้งนี้นักศึกษาจะต้องทำ concept proposal เพื่อมาขอรับเงินสนับสนุนจากอาจารย์
เมื่อเสร็จสิ้นแล้วนักศึกษาจะต้องนำเสนอผลงาน ทั้งแบบปากเปล่าและการนำเสนอผลงานแบบโปสเตอร์
ผลสะท้อนคิดจากการจัดการเรียนการสอน
ผลสะท้อนที่ได้รับจากการเรียนการสอนตลอดทั้งเทอม
สิ่งที่นักศึกษาสะท้อนกลับมาให้ปรับปรุงในการจัดการเรียนการสอนครั้งต่อไป คือ สื่อวิดีโอมีความยาวมากเกินไป อาจารย์จึงได้เรียนรู้ว่าจริง ๆ แล้วเด็กอาจจะรู้สึกเหนื่อยถ้าเขาดูวิดีโอที่ยาวมากเกินไป รวมถึงนักศึกษาอาจจะรู้สึกว่าเขาจะต้องทำงานเพิ่มมากยิ่งขึ้นในการศึกษาเนื้อหาก่อนเข้าชั้นเรียน ดังนั้นในการปรับการเรียนการสอนครั้งต่อไป จะต้องจัดการเรียนการสอนให้กระชับมากยิ่งขึ้น
และสิ่งที่อาจารย์สะท้อนได้จากการเห็นนักศึกษา คือ ห้องเรียนมีชีวิตชีวา สนุกสนานและทำให้อาจารย์อิ่มเอมใจไปกับการจัดการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น เพราะบรรยากาศของการจัดการเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อาจารย์จะต้องทำให้นักศึกษาเชื่อได้ว่าจะสามารถพาชั้นเรียนไปได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งอาจารย์ได้ทิ้งท้ายว่าจะมีการพัฒนากระบวนวิชานี้ในลำดับต่อไป
ที่มาคลิปวิดิโอต้นฉบับ:https://www.youtube.com/watch?v=dMfiWaCrh2w&list=PLNnkly3VHgYb7Ket6dCghX-F44U-mDD5C&t=805
เรียบเรียงโดย ซูไรญา บินเยาะ
(TLIC JUNIOR#3 - Writer)
นักศึกษาโครงการ Digital Learning Support; DLA 2/2566
Comentarios