top of page
  • suraiyab4

[CMU21st Talk Century Learning Day 2020] โดย อาจารย์ ดร. ทัชชา สุตตสันต์ - Best Practice Award

ถอดบทเรียนจากรายการ CMU21st Talk Century Learning Day 2020 เคล็ดลับการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21 โดยอาจารย์ดร. ทัชชา สุตตสันต์ หรืออาจารย์ทราย จากคณะเศรษศาสตร์ ผู้ได้รับเลือกเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice Award) ผ่านการสอนในกระบวนวิชา Industrial Economics


อาจารย์ทราย หรือ ดร. ทัชชา สุตตสันต์ เจ้าของรางวัล Best Practice Award


โดยอาจารย์ทรายได้แชร์ประสบการณ์การจัดการเรียนรู้เชิงรุก (active learning) ซึ่งสิ่งที่นักศึกษาจะได้รับทั้งหมด คือ ความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ทำให้พวกเขามีความมั่นใจที่จะออกไปเผชิญปัญหาภายนอก และการเรียนรู้เชิงรุกจะทำให้พวกเขามีความสุขกับการเรียน ส่งผลมีเจตคติที่ดีต่อการเรียน และต่อวิชาชีพของเขา

ซึ่งทั้งหมดได้มาจากการที่อาจารย์ทรายให้อิสระทางความคิด สร้างชีวิตชีวาในชั้นเรียนผ่านกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง โดยแบ่งกิจกรรมหลักทั้งหมด 6 กิจกรรม

  1. เกมแบบจำลองธุรกิจ Universal PaperClips

  2. การโต้วาที

  3. Research-based Learning เก็บข้อมูลผู้บริโภค

  4. สัมภาษณ์กลยุทธ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม

  5. การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการสร้าง Sharing platform

  6. สร้างคอนเทนต์

แต่ละกิจกรรมมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งจะกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจในเนื้อหา อยู่กับชั้นเรียน และตอบสนองการพัฒนาทางศักยภาพ ทางทักษะของเขาในทุก ๆ ด้าน

สิ่งสำคัญที่อาจารย์ทรายได้ย้ำเสมอ คือ ในหนึ่งชั้นเรียนมักจะประกอบไปด้วยนักศึกษาที่มีความหลากหลาย บางคนกล้าคิด กล้าแสดงออก หรือบางคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ฉะนั้นการสร้างบรรยากาศให้นักศึกษาสบายใจที่จะมีส่วนร่วมในชั้นเรียนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมไปด้วยกัน

ดังนั้นอาจารย์ทรายจึงแบ่งกิจกรรมเป็นอีก 2 วัตถุประสงค์หลักคือ

  • สร้างชีวิตชีวานในชั้นเรียน สร้างโอกาสให้นักศึกษาทุกคนได้มีส่วนร่วมในชั้นเรียน ประกอบด้วยกิจกรรมเกมแบบจำลองธุรกิจ Universal PaperClips, การโต้วาที และสร้างคอนเทนต์

  • การให้อิสระทางความคิด ขยายกรอบแนวคิดให้เป็นประโยชน์แบบถูกที่ถูกเวลา ประกอบด้วยกิจกรรม Research-based Learning เก็บข้อมูลผู้บริโภค, สัมภาษณ์กลยุทธ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม และการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการสร้าง Sharing platform

 

สร้างชีวิตชีวานในชั้นเรียน สร้างโอกาสให้นักศึกษาทุกคนได้มีส่วนร่วมในชั้นเรียน

1. เกมแบบจำลองธุรกิจ Universal PaperClips

เป็นกิจกรรมจำลองเสมือนนักศึกษาคือผู้ผลิตในธุรกิจของเขา ใช้เวลาเล่นทั้งสิ้น 3 วันสามคืน เริ่มต้นจากธุรกิจเล็ก ๆ ควบคุมด้วยการคลิกแบบ manual (คลิกมือ) เมื่อเวลาผ่านไปธุรกิจเติบโตมากยิ่งขึ้น จะสามารถใช้เทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะเป็น automation หรือ AI ที่เข้ามาช่วยตัดสินใจในธุรกิจ โดยผู้เล่นแต่ละทีมจะมีจุดจบที่แตกต่างกัน ซึ่งผู้เล่นบางคนก็จะโดน AI บอกว่า ‘ออกไปจากจักรวาลนี้ได้แล้วเพราะว่าคุณไม่มีความสำคัญอีกแล้วกลับธุรกิจของคุณ (please get out of this universe)’ เนื่องจาก AI ตัดสินใจให้หมดเลย หรือบางทีมต้องหยุดเล่นกลางคัน เนื่องจากเงินลงทุนไม่เพียงพอ บางทีมธุรกิจประสบความสำเร็จ สามารถผลิตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

โดยตอนสุดท้ายให้นักศึกษาเขียนสะท้อนคิด ซึ่งสิ่งที่พวกเขาสะท้อนคิดกลับมาเป็นสิ่งที่อาจารย์ทรายอยากจะสอนเขาทั้งหมด แต่นักศึกษากลับสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ทำให้พวกเขารู้เลยว่า การตัดสินใจระหว่างทางในธุรกิจของเขาจะเป็นตัวกำหนดปลายทางของธุรกิจ บางกลุ่มนักศึกษารับรู้ได้เลยว่า AI จะเข้ามามีบทบาท เข้ามามีศักยภาพขนาดไหนในการทำธุรกิจ ซึ่งจุดนี้คือสิ่งที่เชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมถัดไป คือ กิจกรรมการโต้วาที


ตัวอย่างการเขียนสะท้อนคิดที่นักศึกษาได้รับหลังการเล่นเกมแบบจำลองธุรกิจ Universal PaperClips

 

2. การโต้วาที


ตัวอย่างประเด็นในการโต้วาทีของวิชา Industrial Economics


กิจกรรมนี้เริ่มต้นจากประเด็นคำถาม ‘คุณเชื่อหรือไม่ว่า AI จะเข้ามาแทนที่มนุษย์’ ในกิจกรรมนี้อาจารย์ทรายจะใช้วิธีการจับฉลากในการเลือกฝั่ง โดยไม่สนใจว่าเดิมนักศึกษาจะมีความเชื่อแบบใด เมื่อจับฉลากได้บทบาทหน้าที่ใดแล้ว นักศึกษาจะต้องทำบทบาทหน้าที่นั้นให้ดีที่สุด และเนื่องจากไม่ต้องการให้การโต้วาทีมันยืดเยื้อจึงกำหนดเวลาในการโต้วาทีแต่ละครั้งเพียง 5 นาที

ดังนั้นสิ่งที่นักศึกษาพูดในเวลา 5 นาที คือสิ่งที่เขารู้สึกว่าพูดประโยคเดียวคู่ต่อสู้จะยอมแพ้โดยทันที โดยอาจารย์นิยามบรรยากาศในห้องเรียนในวันนั้นว่า ‘แทบจะระเบิด’ เพราะนักศึกษาต่างไม่ยอมกัน รับบทบาทหน้าที่อย่างเต็มที่ ในตอนสุดท้ายก็ได้ถามนักศึกษาว่า ‘มีใครเปลี่ยนความคิดเรื่องเชื่อ/ไม่เชื่อใน AI หลังให้ได้รับบทบาทหน้าที่ไหม?’ ปรากฏว่ามีนักเรียน 25% ที่ยกมือ ซึ่งหมายความว่า หากคุณรู้จักเปิดใจที่จะรับข้อมูลข่าวสารของอีกฝ่ายหนึ่ง สุดท้ายคุณก็โอกาสที่จะเปลี่ยนใจ เป็นการสอนให้รู้จักการคิดอย่างมีวิจารณญาณ ไม่คิดเฉพาะจากสิ่งที่ตัวเองเคยเชื่อมา

 

3. สร้างคอนเทนต์

กิจรรมที่ให้นักศึกษาสร้างคอนเทนต์ โดยมีคอนเซ็ปต์คือคำสำคัญในกระบวนวิชา ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้รับคำสำคัญที่ต่างกัน แล้วจึงนำเสนอให้เพื่อน ๆ ฟังผ่านวิดีโอคลิป


ตัวอย่างวิดีโอของกลุ่มนักศึกษาที่ได้รับคำว่า ‘ฮาลาล’ โดยพวกเขาทำเป็น vlog พาผู้ชมไปทานร้านฮาลาล ซึ่งก่อนไปพวกเขาได้อธิบายว่าฮาลาลคืออะไร และฮาลาลมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอย่างไร

 

การให้อิสระทางความคิดขยายกรอบแนวคิดให้เป็นประโยชน์แบบถูกที่ถูกเวลา

1. Research-based Learning เก็บข้อมูลผู้บริโภค

กิจกรรมกึ่งวิจัย นักศึกษาจะได้ไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่สนใจ และให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างสรรค์แพลตฟอร์ม เป็น sharing platform คล้าย ๆ กับ Airbnb หรือ Grab แต่เป็นสิ่งที่นักศึกษาคิดค้นขึ้นมาเอง โดยก่อนหน้ากิจกรรมนี้อาจารย์ได้นำเสนอเรื่องของพลังอำนาจราคา 0 บาท แล้วจึงให้นักศึกษาดำเนินการวิจัยตามต้นแบบ จากนั้นให้ขยายกรอบแนวคิดเพิ่มอีกหนึ่งแนวคิด

 

2 สัมภาษณ์กลยุทธ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม

กิจกรรมสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ มีคอนเซ็ปต์ว่า ‘คุณไม่ต้องรู้อุตสาหกรรมทุกอย่างบนโลกใบนี้ แต่ต้องรู้ว่าทฤษฎีและกรอบแนวคิดที่ได้เรียนรู้จากวิชานี้ จะสามารถนำไปอธิบายและวิเคราะห์สถานการณ์ที่คุณสนใจได้อย่างไร’ ณ เวลาอาจารย์ทรายให้นักศึกษาใช้ SWOT เป็นกรอบแนวคิดในการตั้งคำถามก่อนที่จะไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการ หลังจากนั้นให้ทำเป็นอินโฟกราฟิก 1 หน้า เพื่อนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์


ตัวอย่างอินโฟกราฟิกของนักศึกษาหลังจากที่ได้ทำกิจกรรมสัมภาษณ์กลยุทธ์ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม

 

3 การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการสร้าง Sharing platform

‘โลกมี Airbnb มี Grab แล้วคุณล่ะ คุณอยากจะแชร์อะไร?’ คำถามที่เกิดขึ้นก่อนจะนำพาให้นักศึกษาคิดถึงความสามารถของเขา มองหาทางสร้างรายได้จากสิ่งนั้น และให้นักศึกษาสร้างและออกแบบโลโก้แพลตฟอร์มของเขาเอง ก่อนที่จะนำไปที่ศูนย์ STEM ให้สอนทำ user interphase เพื่อให้นักศึกษาเห็นว่าสิ่งที่เขาออกแบบมาในอินโฟกราฟิก หากมันเป็นแอปพลิเคชั่นจริง ๆ มันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

โดยกิจกรรมทั้งหมดอาจารย์ทรายมีความมุ่งหวังที่จะให้นักศึกษาได้เชื่อมโยงทฤษฎีในชั้นเรียนเข้ากับชีวิตจริง ทำให้เขาเกิดมีความรู้สึกว่าสิ่งที่เรียนรู้ในชั้นเรียนมีประโยชน์ต่อชีวิตอนาคตจริง ๆ และกระบวนวิชานี้ได้ใช้ FACEBOOK เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารกับนักศึกษา มีเพจประชาสัมพันธ์นำเสนอผลงานของนักศึกษาเพื่อให้บุคคลภายนอกความสามารถของนักศึกษา


Facebook fanpage : Leave our comfort zone พื้นที่ในการเผยแพร่ผลงานของนักศึกษา

 

สร้างแรงจูงใจ ไม่ใช่สั่ง

การถาม คือ สิ่งสำคัญในการสร้างความเข้าใจ ดังนั้นอาจารย์จะไม่บังคับให้นักศึกษาถาม แต่ใช้จะคะแนนเป็นแรงจูงใจหนึ่งให้เกิดการสร้างความเข้าใจ สิ่งที่สำคัญ คือ อาจารย์จะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อไม่มีใครถามอาจารย์ต้องตั้งคำถาม และหลังจากนั้นนักศึกษาจะเริ่มเลียนแบบ เริ่มรู้ว่าคำถามประมาณนี้น่าจะดี แล้วคำถามจะแอดวานซ์ขึ้นมากไปเรื่อย ๆ


วิกฤต คือ โอกาส

กิจกรรมสร้างคอนเทนต์ให้นักศึกษานำเสนอผ่านคลิปวิดีโอ เดิมอาจารย์เล่าว่า กิจกรรมนี้ไม่ได้อยู่ในแผน แต่เกิดจากปัญหาที่พบหลังให้นักศึกษาพรีเซ้นหน้าห้อง ซึ่งนักศึกษาต่างก้มหน้าก้มตาอ่านสไลด์ของตัวเองก่อนพรีเซ้น ขณะที่ผู้พรีเซ้นก็มีความคิดอยากพรีเซ้นให้จบ ๆ สุดท้ายจึงไม่เกิดการซักถามใด ๆ ไม่มีการเรียนรู้อะไรเกิดขึ้นในชั้นเรียน จนสุดท้ายอาจารย์ทรายปรับเปลี่ยนให้นักศึกษาทำเป็นวิดีโอคลิป โดยมีเงื่อนไขอยู่อย่างเดียว คือ ‘ทำอย่างไรก็ได้ให้ผู้ฟังตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นจนจบโดยได้ความรู้ไปด้วย’ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเกินความคาดหมาย กลุ่มทำเป็น vlog บ้างทำเป็นอนิเมชั่น หรือบ้างก็แสดงโรลเพลย์ วันที่เปิดคลิปวิดีโอดูพร้อมกันในห้องเต็มไปด้วยความสดใส มีทั้งเสียงแซว เสียงหัวเราะ เสียงโห่ และทุกคนก็รอดูว่าแต่ละกลุ่มจะทำอะไรมา จะมีมุกอะไรมาปล่อย

“บรรยากาศการเรียนในวันนั้นดีมาก ๆ” อาจารย์ทรายกล่าวด้วยรอยยิ้ม การเปลี่ยนไปทำกิจกรรมลักษณะนี้ทำให้ มองให้เห็นศักยภาพในตัวนักศึกษา แล้วทำให้เข้าใจเลยว่านักศึกษาในศตวรรษที่ 21 มีลักษณะอย่างไร

“ในตอนแรกที่เกิดปัญหาอาจเป็นเพราะว่า อาจารย์นำวิธีการที่เคยเห็นในศตวรรษที่ 19-20 ไปหยิบยื่นให้เด็กที่เกิดในศตวรรษที่ 21 เมื่อกิจกรรมเป็นไปตามธรรมชาติของนักศึกษา อาจารย์จะเริ่มเห็นความส่องสว่าง (Shining) ของเขาออกมา” อาจารย์ทรายกล่าวทิ้งท้าย

ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดนี้หากท่านใดสนใจ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมผลงานวิดีโอการโต้วาที วิดีโอที่นักศึกษาได้ทำไว้ หรืออินโฟกราฟิกที่ได้ที่ Facebook fanpage : Leave our comfort zone หรือ ลิงก์ https://www.facebook.com/cmse.cmu?locale=th_TH 

 




 

ที่มาคลิปวิดิโอต้นฉบับ:https://www.youtube.com/watch?v=6g5jWT3gGCI&list=PLNnkly3VHgYb7Ket6dCghX-F44U-mDD5C&index=5

เรียบเรียงโดย ซูไรญา บินเยาะ

(TLIC JUNIOR#3 - Writer)

นักศึกษาโครงการ Digital Learning Support; DLA 2/2566

ดู 12 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page